
ยางพารา ยางพารวย (2)
ผู้เขียน: ฝ่ายวิจัยและพัฒนา AFET
แหล่งเผยแพร่: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน 21 กรกฎาคม 2553
สัปดาห์ที่แล้วเราได้รู้จักกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติราคายางพาราผันผวนสำหรับผู้ประกอบการ ด้วยการป้องกันความเสี่ยงผ่านตลาดล่วงหน้า เพื่อให้ปีนี้เป็นปีของ “ยางพารา ยางพารวย” อย่างแท้จริง สัปดาห์นี้จึงเป็นเวลาของบุคคลที่สนใจจะเป็นนักลงทุน “เกาะกระแสยางพารวย” ไปพร้อมๆ กับผู้ประกอบการธุรกิจยางพาราค่ะ
ธุรกิจยางพาราเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและใช้เงินทุนก้อนใหญ่เพื่อใช้รองรับสถานการณ์ราคายางพาราผันผวน ซึ่งถือเป็นช่วงที่ยากลำบากของผู้ประกอบการ แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว นี่ถือเป็นโอกาสทองในการทำกำไร โดยในประเทศไทยเราสามารถลงทุนผ่านการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (Futures Contract) ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS 3) ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (Agricultural Futures Exchange of Thailand) หรือ AFET
ก่อนที่เราจะกระโจนเข้าสู่สมรภูมิการลงทุน เรามาทำความรู้จักกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้มราคายางแผ่นรมควันมีทั้งหมด 5 เกรด โดยยางแผ่นรมควันชั้น 1 มีคุณภาพดีสุด จนถึงชั้น 5 ที่มีคุณภาพต่ำสุด ทั้งนี้ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากประเทศไทยซึ่งใช้ในการผลิตยางล้อรถยนต์โดยผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อาทิ Bridgestone, Michelin และ Goodyear นอกจากนี้ยังใช้ในการผลิตสินค้าชนิดอื่นๆ อาทิ ท่อยาง สายพานลำเลียง อะไหล่รถยนต์ และยางรัดของ เป็นต้น ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเพื่อการส่งออกรายสำคัญ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป เป็นต้น เพื่อชีวิตการลงทุนที่ง่ายขึ้น เราแบ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (จากหนังสือ “ซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในตลาด AFET” ) ดังนี้
เนื่องจากสินค้าทดแทนของยางพาราคือยางสังเคราะห์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ ทำให้ราคายางพารามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราคาน้ำมันในตลาดโลก พูดง่ายๆ ก็คือ “น้ำมันขึ้น ยางขึ้น” นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างราคายางในตลาด AFET และราคายางในตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะตลาด TOCOM (Tokyo Commodity Exchange) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการอ้างอิงราคายางพารากันมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นอกเหนือจากความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในการลงทุนข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ การมีวินัยในการลงทุน ซึ่งหมายถึงการวางแผนและจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และต้องปฏิบัติตามแผนนั้นอย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปแล้วแผนการลงทุนนี้ควรมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้หากระดับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ช่วงอายุของผู้ลงทุน การแต่งงาน มีบุตร รวมทั้งควรติดตามสถานการณ์ตลาดลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ในกรณีของการลงทุนในตลาดล่วงหน้านั้น จำเป็นต้องมีวินัยการลงทุนที่มากขึ้น โดยต้องมีการกำหนดจุด Stop Loss หรือจุดตัดขาดทุนที่ชัดเจน และกล้าที่จะเปลี่ยน หากลงทุนผิดที่ผิดเวลา มิฉะนั้นผลขาดทุนจะลุกลามต่อไป ทั้งนี้จุด Stop Loss ของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสไตล์การลงทุน ฐานะทางการเงิน และเป้าหมายระยะเวลาลงทุน
สำหรับผู้สนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ เว็ปไซต์ดีๆ ที่รวบรวมคู่มือการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ไว้ให้ศึกษากันฟรีๆ ค่ะ ด้วยวินัยและความรู้คู่การลงทุน จะสร้างโอกาสให้เราประสบความสำเร็จในฐานะ “นักลงทุนผู้เกาะกระแสยางพารา ยางพารวย”