วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ยางพารา ยางพารวย,ซื้อ-ขาย,ซื้อขาย,








ยางพารา ยางพารวย

ผู้เขียน: ฝ่ายวิจัยและพัฒนา AFET
แหล่งเผยแพร่: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน 14 กรกฎาคม 2553




หากถามถึงสินค้าเกษตรที่โดดเด่นมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 คำตอบคงหนีไม่พ้นยางพารา เพราะราคาทำสถิติดีดสูงขึ้นไปเป็นประวัติการณ์ โดยราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่เหนือระดับ 100 บาท/กิโลกรัม เป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกัน เรียกได้ว่าเป็นปีทองของ ”ยางพารา ยางพารวย” ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลายคนอยากผันตัวมาเป็นเถ้าแก่สวนยางหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา แต่ก่อนที่เราจะลงทุนเพราะมองเห็นโอกาสดีๆ นั้น ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของธุรกิจยางพาราก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน

นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านปริมาณผลผลิตอันเกิดจากโรคและแมลงศัตรูพืช และภูมิอากาศแปรปรวนแล้ว ยังมีความเสี่ยงเรื่องผลตอบแทนอันเกิดจากความผันผวนของต้นทุนการผลิต ประเทศคู่แข่งทางการค้าและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่ตกต่ำของประเทศคู่ค้า การเติบโตของธุรกิจยานยนต์ อุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาของสินค้าทดแทนอย่างยางสังเคราะห์ ปริมาณสินค้าคงคลังของประเทศผู้นำเข้า อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ฯลฯ ความเสี่ยงเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ราคายางพาราผันผวน ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญและในบางครั้งก็เป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจยางพารา

แม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางธุรกิจเหล่านี้ได้ แต่เราก็สามารถลดและป้องกันความเสี่ยงบางชนิดได้ โดยเฉพาะ “ความเสี่ยงจากราคายางพาราที่ผันผวน” อันเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญในการกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจยางพารา โดยเทคนิคอยู่ที่ “การป้องกันความเสี่ยงผ่านตลาดล่วงหน้า” ในการฝ่าวิกฤตการณ์ราคายางผันผวน เพื่อความเข้าใจ เรามาดูตัวอย่างกันค่ะ นายสุขใจ เกษตรกรชาวสงขลาผู้ผลิตและขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 กำลังมีความสุขกับราคายางในระดับสูง โดยตลาดกลางยางพาราสงขลา มีราคาประมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ดังนี้



(ที่มา : สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร)

อย่างไรก็ตามนายสุขใจก็กังวลเรื่องราคาผลผลิตที่จะออกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554 เพราะราคายางพาราเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยเขาจะพอใจหากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่สูงกว่าระดับ 80 บาท/กก. ทั้งนี้ราคาซื้อขายระหว่างวันของยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ในวันเดียวกัน มีดังนี้



(ที่มา : ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย)

นายสุขใจจึงป้องกันความเสี่ยงผ่านตลาดล่วงหน้าด้วยการเปิดสถานะ “ขายสัญญาล่วงหน้า (Short Hedge) สัญญา RSS3 (FEB 11)” ในวันที่ 12 กรกฎาคม 53 ที่ราคา 93.20 บาท/กก. ซึ่งเป็นระดับราคาขายที่เขาพึงพอใจ เมื่อใกล้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หากยางแผ่นรมควันชั้น 3 ทั้งในตลาดจริงและตลาดล่วงหน้า ราคาลดลงมาอยู่ที่ 90 บาท/กก. นายสุขใจก็นำยางแผ่นรมควันชั้น 3 ไปขายในตลาดจริงในราคาเพียง 90 บาท/กก. ขณะเดียวกันเขาก็ปิดสถานะด้วยการ “ซื้อสัญญาล่วงหน้า RSS3 (FEB 11)” ที่ราคา 90 บาท/กก. ทำให้เขาได้กำไรจากตลาดล่วงหน้า = 93.20 - 90 หรือ 3.20 บาท/กก. ซึ่งกำไรส่วนนี้สามารถนำไปชดเชยกับราคาขายในตลาดจริงที่ราคา 90 บาท/กก.ได้ ดังนั้นจึงเสมือนว่านายสุขใจสามารถตรึงราคาขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ของตนได้ในราคา 93.20 บาท/กก. ซึ่งเป็นระดับที่เขาพึงพอใจ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงผ่านตลาดล่วงหน้า หากท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถหาข้อมูลได้ ที่นี่ ซึ่งได้รวบรวมคู่มือการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ไว้ให้ศึกษากันฟรีๆ อย่างครบครันค่ะ