วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อารมณ์อ่อนไหวในตลาดลงทุน,ซื้อ-ขาย,ซื้อขาย,

อารมณ์อ่อนไหวในตลาดลงทุน

ผู้เขียน: ฝ่ายวิจัยและพัฒนา AFET
แหล่งเผยแพร่: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน 28 กรกฎาคม 2553




ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกบ้างไหมคะว่า ตลาดลงทุนทั่วโลกในช่วงนี้มีความผันผวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ หากเราเปรียบเทียบตลาดลงทุนเหล่านี้เป็นมนุษย์แล้ว ในช่วงนี้พวกเขาก็คงเป็นคนที่อ่อนไหวง่ายมากๆ เลยทีเดียว

เกิดอะไรขึ้นในตลาดลงทุน

เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (21 ก.ค. 53) เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) กล่าวแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐยังคงซบเซา ทำให้เฟดอาจต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจที่จะยับยั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างกลัวความเสี่ยง จึงพากันลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ผลก็คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์ร่วงลง พร้อมๆ กับการดิ่งลงของตลาดหุ้นสำคัญของโลก ราคาน้ำมันก็ดิ่งลงเช่นกัน ขณะที่ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเพียง 1 วัน (22 ก.ค. 53) ตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกกลับทะยานขึ้นอีกครั้งพร้อมๆ กับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินยูโรและปอนด์ต่างปรับตัวดีขึ้น เหลือเพียงสกุลเงินดอลลาห์สหรัฐที่ยังร่วงลงเพราะถูกนักลงทุนเทขายต่อ

อะไรทำให้นักลงทุนเหล่านี้หายกลัว หรือคำพูดประธานเฟดไม่มีความหมายแล้วหรือไร

หากมองลึกลงไปในถ้อยแถลงดังกล่าว เราจะเห็น ประเด็นสำคัญสำหรับตลาดลงทุนอยู่ 2 ประการ คือ 1. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงซบเซา 2. อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป นอกจากนี้คำพูดของประธานเฟดที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้น จะทำให้นักลงทุนหวาดกลัวกันจริงหรือ ตรงกันข้าม ดิฉันกลับคิดว่านักลงทุนน่าจะโล่งใจกันมากกว่า เพราะถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้น เฟดจะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนในการลงทุนเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องที่กำลังล้นระบบตลาดเงินเกิดภาวะตึงตัว อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่ตลาดลงทุนทั่วโลกจะร่วงลงอีกครั้ง

ภาวะสภาพคล่องล้นระบบ อันเป็นผลมาจากนโยบายอัดฉีดเงินของเฟดนั้นได้ถูกนำมาลงทุนในตลาดลงทุนต่างๆ ทั่วโลก ทำให้สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ต่างได้รับผลดีกันถ้วนหน้า ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างมาก ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลมาจาก "ภาวะเงินล้นโลก" มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ จนเกิดภาวะ Overbought ในตลาดลงทุน

ด้วยภาวะเงินล้นโลกนี้ ตลาดลงทุนจึงมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากกว่าภาวะปกติ เพราะนักลงทุนต่างรู้ว่าสิ่งที่ตนกำลังถืออยู่นั้นแพงเกินไป แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนดี เก็บเป็นเงินสดก็ไม่สร้างผลตอบแทน พอมีข่าวร้ายเข้ามาในตลาด นักลงทุนก็จะตกใจ แห่กันเทขายสินทรัพย์ลงทุนออกมา เกิดภาวะ Oversold เพราะหนีตายกันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม หากหลายประเทศทั่วโลกยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ตลาดลงทุนที่ร่วงลงอย่างรุนแรงก็จะฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง เพราะต้นทุนการลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำ และปริมาณเงินก็ยังล้นโลกอยู่ดี ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ “อารมณ์อ่อนไหวในตลาดลงทุน” นั่นเอง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดลงทุนทั่วโลกได้ไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะนโยบายการเงินของยุโรป จีน และประเทศในแถบเอเชีย เป็นต้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่อารมณ์อ่อนไหวในตลาดลงทุนนี้จะยาวนานแค่ไหนและจะสิ้นสุดเมื่อใด แต่อยู่ที่เราจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้ในตลาดลงทุน